🐦 October 2022 Big Day

นับนกได้ 100 ชนิด ที่ ทุ่งปากพลี และ อช. เขาใหญ่

Krit Kruaykitanon
4 min readOct 11, 2022

Big Day คืออะไร?

วันที่นักดูนกทั่วโลกแข่งกันหานกให้ได้มากที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ความซื่อสัตย์ เพราะ “ชัยชนะจากการทุจริต ย่อมปราศจากความภาคภูมิใจ” 5555

ทริปในครั้งนี้ไม่ได้ไปคนเดียว แต่ร่วมเดินทางไปกับเพื่อนนักดูนก แต่เราก็ต่างคนต่างทำ checklist ของตัวเอง

Timeline

3:15 — ตื่นนอน

4:00 — ล้อหมุน

6:00 — ถึง ทุ่งปากพลี จุดชมเหยี่ยวหูดำ แน่นอนว่าเราต้องเจอ “เหยี่ยวหูดำ (Black-eared Kite)” มากกว่า 50 ตัว และนกที่น่าสนใจ “นกกระติ๊ดแดง (Red Avadavat)” , “นกกระทุง (Spot-billed Pelican)”, “กระสาแดง (Purple heron)” และ นกทุ่งอื่นๆ ทั่วไป

7:00 — รถติดหล่ม ล้อหลังรถตู้จมไปในท่อที่แตก และใช้เวลานี้ในการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่สำเร็จ เลยยืนดูนกแถวๆ นั้นก็เก็บไปได้ไม่น้อย

สภาพ

9:00 — ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านติดต่อให้ผู้ใหญ่บ้านขับรถอีแต๋น มาลากรถขึ้นจากหลุม และเริ่มเดินทางต่อไปยัง อช. เขาใหญ่

9:30 — แวะปั้ม กินเช้า ข้าวผัดปู 7–11

10:00 — ถึงด่าน อช.

10:30 — ถึงน้ำตกเหวนรก เลยทางเข้าไปหน่อยเป็นสะพานที่เขาว่าเป็นจุดที่นกผ่านเยอะ ด้วยความที่สายแล้ว เลยเจอนกไม่ค่อยเยอะมาก ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุอาจจะได้นกเยอะกว่านี้ เหยี่ยวชนิดที่สองของวัน “เหยี่ยวนกเขาหงอน (Crested Goshawk)” บินอยู่ไกลๆ แล้วลับสายตาไป “นกจับแมลงสีน้ำตาล (Asian Brown Flycatcher)” ส่งเสียงเป็นระยะๆ

จากนั้นก็วนรถกลับไปที่เทรลน้ำตกเหวนรก ได้ยินเสียง “นกจับแมลงอกสีฟ้า (Hainan Blue Flycatcher)” ร้องกังวาล เดินมาสักพัก “นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (Blue-winged Leafbird)” 2–3 ตัวบินลงมาเกาะปลายยอดกิ่งไม้ เป็นนกที่ผมเคยเจอเมื่อปีก่อนแต่ไม่ได้ใกล้เท่านี้ เดินมาอีกระยะนึงเป็นจุดที่เจอนกกระจิ๊ดหลายตัว หนึ่งในนั้นเป็นนกใหม่ในชีวิต Alström’s Warbler” สบตาได้พักใหญ่พอจะจดจำรูปร่างหน้าตาและใบหน้าได้ สักพักได้ยินเสียง “นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ (Great Iora)” ร้องและบินมาเกาะเผยโฉมนานจนต้องถ่ายรูปเก็บไว้

นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ (Great Iora)

เดินสุดปลายเทรลก่อนจะถึงทางขึ้นน้ำตกเหวนรก “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ชิคร่า (Shikra)” บินอยู่เหนือศรีษะ และ “นกกระเบื้องผา (Blue Rock Thrush)” เกาะอยู่อีกฝั่งของลำธาร”

12:00 — ล้อหมุนมุ่งหน้าสู่ที่ทำการ อช. เพื่อกินข้าวเที่ยง

12:30 — กินข้าวเที่ยง ข้าวราดแกง แพนงเนื้อ ไข่ยัดไส้ รวมๆ เกือบ 120 บาท สั่งเพลินจนลืมไปว่าข้าว อช ไม่ได้ราคาปกติ

14:00 — เริ่มเดินเทรลน้ำตกกิ่งแก้วด้วยการเดินข้ามสะพานแขวน จังหวะการเดินต้องเหมือนกับคนด้านหน้าเท่านั้น ไม่งั้นมีเซ เลือกเดินทวนเข็มนาฬิกา เพราะพี่ที่ไปด้วยได้ยินเสียง “นกเงือกสีน้ำตาล (Tickell’s Brown Hornbill)” ระหว่างทาง นอกจากนกแล้วสัตว์อื่นๆ ไม่ละสายตาพวกเรา คู่รัก “ตั๊กแตน” กำลังพลอดรักไม่อายสายตามนุษย์ “เต่า” เกาะอยู่ไกลๆ ตรงแหล่งน้ำ

ถึงจุดนี้การเดินเทรลเริ่มมีสิ่งรบกวน “ทาก” ที่พบเห็นได้มากขึ้น เมื่อเดินเข้าไปลึกขึ้น ผมที่พอมีประสบการณ์อยู่แล้ว ไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ จับปั้นแล้วดีดออกใหม่หมด สำหรับมือใหม่อาจจะระแวงจนไม่ได้ใช้เวลากับการดูนกเท่าไร

พอเดินมาได้สักระยะหนึ่งเราได้ยินเสียงของนกตัวหนึ่งที่เราตั้งใจจะเจอตอนเช้า และแล้วก็ประกฎตัวให้เห็น “นกกระเต็นลาย (Banded Kingfisher)” ตัวผู้สีสันสดใส เกาะอยู่พักใหญ่ จนพวกเราหยุดและรัวถ่ายภาพ ตัวนี้ผมเคยเจอมาแล้ว 2–3 ครั้ง แต่ไม่ให้ความร่วมมือเท่าตัวนี้

นกกระเต็นลาย (Banded Kingfisher)

เดินมาเรื่อยๆ ก็ได้ยินเสียงนกต่างๆ “นกขุนทอง (Hill Myna)” “นกปรอดเล็กตาขาว (Gray-eyed Bulbul)” และหยุดที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็น habitat ของนกหลายชนิด เลยใช้เวลารอสังเกต เอกลักษณ์คือหางยาว เห็นนกกินปลีตัวแรกเป็นเพศเมีย ไม่แน่ใจว่าเป็นนกอะไร เพราะนกกินปลีเพศเมียจะคล้ายกันหลายชนิด แต่พอตัวผู้มาเกาะเท่านั้น ก็รู้ทันทีว่าเป็น “นกกินปลีคอดำ (Black-throated Sunbird)” บินลงมาเกาะไม่ไกลนัก ที่สำคัญลงมาเกือบระดับสายตา แต่ต้องบอกว่าย้อนแสงเลยเห็นสีไม่ชัดเจน สักพัก “นกภูหงอนท้องขาว (White-bellied Erponis)” ก็มาเกาะเป็นเพื่อน

นกกินปลีคอดำ (Black-throated Sunbird)

15:00 — เดินวนกลับมาถึงอุทยาน กำจัดทากออก สรุปโดนไป 4–5 จุด ทากพวกนี้กัดทะลุถุงเท้าหมด ทางที่ดีควรมีถุงกันทากพกไว้ ซัดกาแฟสักหน่อย ระหว่างกินกาแฟ ก็ไม่ละสายตาบนขอบฟ้าเผื่อจะเจอเหยี่ยวบินมาไกลๆ เป็น bonus ซึ่งก็จริง “เหยี่ยว (Jerdon’s Baza)” บินมา

16:00 — ล้อหมุนขึ้นเขาเขียว ระหว่างทางแอบภาวนาให้พอถึงแล้วฝนไม่ตก เหมือนตลอดทั้งวันที่ตกเฉพาะตอนอยู่บนรถ

16:30 — เดินเทรลผาเดียวดาว ด้วยระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่มากขึ้น อากาศเริ่มเย็นขึ้น เมื่อถึงฤดูปลายฝนต้นหนาว “นกกะรางคอดำ (Black-throated Laughing Thrush)” ร้องเสียงดังและโผล่ตัวออกเป็นพักๆ ในพุ่มไม้

ถึงตรงจุดหน้าผาก็ถ่ายรูปวิว และลองหานกแอ่นที่วันนี้เราไม่ได้เจอ “นกแอ่นใหญ่หัวตาขาว (Brown-backed Needletail)” บินอยู่เป็นจุดเล็กๆ ที่ถ้าไม่สังเกตุก็ไม่มีวันเห็น “นกนางแอ่นตะโพกแดง (Red-rumped Swallow)” ถูกจำแนกด้วยลักษณะการบินของนกนางแอ่นอันเป็นเอกลักษณ์ และสีแดงออกน้ำตาลส้มที่ตะโพกของมัน

นกแอ่นใหญ่หัวตาขาว (Brown-backed Needletail)

17:00 — และแล้วก็มาถึงจุดสุดท้ายที่ตั้งใจ ผาตรอมใจ เป็นยอดที่สูงสุดภาคกลาง 1,290 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศเย็นสบายทำให้อารมณ์ดี เจอเจ้าถิ่นที่ผมไม่เคยเจอ เขาว่ากันว่ามาทีไรเจอทุกที และเจอที่เดียวตลอด “นกกระเบื้องผา (Blue Rock Thrush)” เกาะเป็นแลนมาร์คให้นักดูนกถ่ายตลอดเมื่อมาถึงที่นี่ ระหว่างนั้นผมเองก็ได้ยินเสียงหนึ่งในนกที่ผมชอบ “นกไต่ไม้หน้าผากสีกำมะหยี่ (Velvet-fronted Nuthatch)” ไต่อยู่เล็กๆ บนต้นไม้สูง และก็ได้ยินเสียงนก “นกจับแมลง (Hill Blue Flycatcher)”

นกกระเบื้องผา (Blue Rock Thrush)

หลังจากใช้เวลาสักพักจนพระอาทิตย์เริ่มเปลี่ยนสี “นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ (Hume’s White-eye)” จำนวน 30–50 ตัว บรรเลงขับขานร้องมาแต่ไกล แล้วมาเกาะสักพักพอให้ได้รูปและจดจำ แล้วบินข้ามไปต่อ ถึงตรงนี้ผมรู้สึกประทับใจทริปนี้แล้ว

นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ (Hume’s White-eye)

ระหว่างกลับเราก็ถ่ายรูปวิวเขาเขียวจากด้านบน ผมเห็นจุดดำๆ 2–3 จุดจากด้านบน เลยลองส่องไปและผมเห็น “กระทิง (Gaur)” เลยบอกทุกคน และก็ตัดสินใจว่าก่อนพระอาทิตย์ตกดินจะแวะถ่ายกระทิง ที่ปลายยอดไม้ไกลผมเห็น “นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill)” 3 ตัวบินแบบเนิบๆ กลับรังของมัน ด้วยบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดิน และอากาศที่เย็นสบาย ฟิน

ผาตรอมใจ

ระหว่างนั้น “นกอีเสือหลังเทา (Grey-backed Shrike)” ก็บินมาเกาะแค่ครู่เดียวและผมน่าจะเป็นคนเดียวที่ได้ภาพ ก่อนขึ้นรถเป็นคนแรกแล้วก็รีบออกมาเพราะเห็นทุกคนส่องกล้อง “เหยี่ยวเครสเทรล (Eurasian Krestel)” บินโฉบลงมาระยะเผาขน ซึ่งผมน่าจะเป็นคนเดียวเหมือนกันที่ไม่ได้ภาพ แต่ก็เห็นนะ

นกอีเสือหลังเทา (Grey-backed Shrike)

18:00 — ช่วงโพล้เพล้ เดินทางลงมาก็เห็นคนกำลังตั้งกล้องกันอยู่ และรู้เลยว่าเราเดินทางมาถึงจุดที่ “กระทิง (Gaur)” กำลังออกมาเดินจากชายป่าให้คนเห็น ได้รูปมาไม่ค่อยชัดแต่ก็ประทับใจ

กระทิง (Gaur)

จุดนี้ผมก็เลยทักเพื่อนที่อยู่ชมรมอนุรักษ์ที่ไปด้วยกันว่า “โลโก้ชมรมเป็นกระทิง เราน่าจะได้เห็นกระทิงเป็นครั้งแรกตอนจบมหาลัยนี่แหละ”

18:30 — เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางคืน ระหว่างทางได้ใช้ไฟฉายสีแดงส่องเพื่อให้เห็นแสงสะท้อนจากสัตว์ป่า สักพักรถต้องหยุด เพราะเราเห็น “นกตบยุงหางยาว (Large-tailed Nightjar” เป็นนกตระกูลที่ผมไม่เคยเจอและอยากเจอมาก บินวนไปมาพอให้ได้เห็นรูปทรงของมัน

19:00 — กลับมาที่แยกก่อนขึ้นเขาเขียว รถส่องสัตว์กลางคืนหลายสิบคัน ขับเป็นขบวนมีไฟฉายใหญ่ส่องไปมา ส่องมาใกล้ที่รถเราแล้วเราก็เห็น “หมาจิ้งจอกทอง (Golden Jackal)” จ้องมาที่เรา มันกำลังกินสัตว์อะไรสักอย่างอยู่

หมาป่า (Golden Jackal)

19:30 — ถึงที่ทำการอุทยาน ร้านอาหารปิดหมดแล้ว เหลือแค่ลูกชิ้นทอด ผมเลยสั่งมา 2 ไม้รองท้องเป็นข้าวเย็น

20:00 — ก่อนหน้านี้ระหว่างกินข้าวก็ได้ยินเสียงนกกลางคืนตัวหนึ่งที่คุ้นเคย “นกเค้าเหยี่ยว (Brown Boobook)” ร้องด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ เกาะอยู่นิ่งและไม่กลัวไฟฉายที่ส่อง จนได้ภาพที่ประทับใจมากคนละรูป

นกเค้าเหยี่ยว (Brown Boobook)

21:00 — แวะถ้ำที่วัดซับชะอม จ.สระบุรี เพื่อมาถ่ายตุ๊กกายที่ว่ากันว่ามีแถวนี้ที่เดียวบนโลก ใช้เวลาหาแปปเดียวเจอตัวแรก แต่หางดันขาด เลยตั้งใจจะหาเผื่อจะเจอตัวที่สมบูรณ์กว่านี้ โอเคในที่สุดก็เจอ แต่ก็เล่นชักกะเย่อกับมานานพอสมควร กว่ามันจะออกมายืดอกให้เราได้เห็น

ตุ๊กกายถ้ำหางขาว (Saraburi Bent-toed Gecko)

24:00 — ถึง กทม. โดยสวัสดิภาพ

รวมๆ ก็เป็นทริปที่ประทับใจ แม้จะมีอุปสรรคในช่วงเช้า แต่ก็ได้เจอนก 100 ตัวพอดีในวันเดียว ได้เดินดูนกที่ อช. เขาใหญ่เป็นครั้งแรก อากาศเย็นสบาย ฝนไม่ตก ไม่ร้อนอบอ้าว คนไม่เยอะจนเกินไป ได้รูปนกแบบชัดๆ เจอนกใหม่เกือบ 10 ตัว แล้วก็สนุกด้วยที่ได้แข่งกับคนอื่น ไม่ได้หวังชนะอะไร แค่ชอบบรรยากาศการแข่งขัน มีการขิงกันไปขิงกันมาชวนสนุก

Appendix

https://ebird.org/tripreport/79579

--

--

Krit Kruaykitanon

👨‍💻 Software Engineer | 🐦 Bird Person | 🗺️ Traveller