เจอตัวอะไรบ้าง “Annapurna Base Camp Trek” ?
เดินป่า ส่องนก บนเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล (April 2024)
Trekking Plan
ก่อนอื่นผมจะขอเล่า trekking plan ก่อนว่าแต่ละวันแผนการเดินเป็นอย่างไรบ้าง
- Day 0: ✈️ Bangkok — Kathmandu ️
- Day 1: 🚌 Kathmandu — Pokhara
- Day 2: 🥾 [Easy] Pokhara — Binthanti — Ghorepani
- Day 3: 🥾 [Hard] Ghorepani — Tadapani
- Day 4: 🥾 [Medium] Tadapani — Chomrong
- Day 5: 🥾 [Medium] Chomrong — Sinuwa — Bamboo — Dovan
- Day 6: 🥾 [Easy] Dovan — Himalaya — Deurali
- Day 7: 🥾 [Hard] Deurali — MBC — ABC
- Day 8: 🥾 [Hard] ABC — MBC — Deurali — Himalaya — Dovan — Bamboo
- Day 9: 🥾 [Hard] Bamboo — Sinuwa — Chomrong — Jinhu Danda
- Day 10: 🥾 Jinhu Danda — Pokhara
- Day 11: 🚌 Pokhara — Kathmandu
- Day 12: ️✈️ Kathmandu — Bangkok
Disclaimer: หากมีข้อผิดพลาดทางข้อมูลประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ และข้อมูลมาจากประสบการณ์ทริปที่เกิดขึ้นเมื่อช่วย April 2024 อาจจะมี outdated ไปบ้าง
Introduction
ช่วงสงกรานต์นี้ได้มีโอกาสไป trekking ที่ ABC 10 วัน ไปกับเพื่อนชมรมฯ มหาลัย คือมันเป็นทริปที่ผมอยากไปตั้งแต่สมัย ม.ปลาย แหละ
ผมน่าจะอ่านหนังสือเดินทางที่เกี่ยวกับเนปาลไม่ต่ำกว่า 4 เล่ม หนึ่งในเล่มนั้นคือ “หิมาลัย ไม่มีจริง” ของนิ้วกลม ซึ่งช่วงที่ผมอ่านเป็นช่วงที่ผมเกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม กระดูกที่ท้าวร้าวต้องเข้าเฝือก เดินขึ้นลงบันไดเองไม่ได้ ออกไปเที่ยวไหนไม่ได้ มันเป็นเล่มที่ผมอ่านวันเดียวจบแม้จะหนามาก ๆ ขณะผมอ่านผมเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่งสักพัก แล้วมาวันนี้ผมจะได้ไปยังโลกนั้นแบบจริง ๆ
ด้วยจังหวะที่เหมาะสม ความพร้อมของสมาชิกผู้ร่วมทริป จึงได้จัดทริปนี้ขึ้นมา
อุปสรรคของการเตรียมตัวคือมันเป็นทริปที่ต้องเดินเยอะมาก ร่างกายผมก็ไม่ฟิตเหมือนสมัยมหาลัยแล้ว เลยต้องกลับมาออกกำลังกาย 2 เดือน ซึ่งก็ช่วยได้มาก แต่ทั้งนี้ผมก็ตัดสินใจจ้างลูกหาบเพื่อจะได้แบกกล้องหนัก ๆ ได้
Visa Nepal
ผมแนะนำให้ไปอ่านของพี่คนนี้ครับ https://pantip.com/topic/41919859 เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดครับ หลัก ๆ คือ ต้องไปสถานฑูต 2 ครั้ง คือ
- ยื่นเอกสาร ซึ่งต้องไปรอบครึ่งเช้า
- รับเอกสาร ซึ่งต้องไปรอบครึ่งบ่าย — แต่อันนี้ผมลืมเช็คเลยไปตอนเช้า ก็โดนบ่น ๆ มานิดหน่อยแต่ก็มีพี่ที่เขามายื่นเอกสารบ่อย ๆ ช่วยไปรับมาให้ ก็พยายามไปให้ถูกรอบกันก็ดีนะครับ เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานได้สะดวก
Day 0: Bangkok — Kathmandu
เราเริ่มเดินทางมาที่เนปาลตั้งแต่ช่วงเย็น กว่าจะถึงก็ประมาณ 2 ทุ่ม การผ่านตม.ใช้เวลาไม่นาน เราเดินออกมาจากบริเวณด้านนอกสนามบินเพื่อเรียก taxi ไปที่พักของเรา แล้วก็หลับเอาแรง
Day 1: Kathmandu — Pokhara
ถ้าคนที่เดินทางบ่อย ๆ จะรู้ดีว่าการหาอาหารเช้ากินตอนเช้านี่เป็นอะไรที่ยากมากในต่างประเทศ และร้านอาหารจะใช้เวลาทำนานมาก มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นแหละที่สะดวกที่สุดแล้ว เราเดินหาอยู่ตามตรอกซอยใกล้เคียงกับที่พักก็จะร้านอาหารเล็ก ๆ ร้านหนึ่งเลยเข้าไปนั่งกินอาหารเนปาลเป็นมื้อแรก
Suggestion: เลือกที่พักให้ใกล้กับจุดขึ้นรถ แล้วก็ให้โรงแรมโทรถามพิกัดได้หากไม่ชัวร์ ผมใช้บริการของ Swift Holiday ถือว่าใช้ได้ครับ จะมีพี่คนขับเดินมาหาเราที่สภาพเหมือนคนหลงทางเพื่อพาเราไปที่ขึ้นรถ
ระหว่างทางเราก็เจอ Red-vented Bulbul (นกปรอดก้นแดง)
แล้วก็ Indian White-eye (นกแว่นตาขาวสีทอง) ลงมาต้อนรับแบบใกล้ ๆ
วันนี้ยังคงเป็นวันที่ต้องเดินทางอยู่ โดยเราจะต้องนั่งรถ minibus ที่จองไว้ล่วงหน้าจาก Kathmandu ไปยัง Pokhara ล้อหมุน 9 โมง โดยถ้าจากกำหนดการเราจะใช้เวลาประมาณ 7–8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร แต่เราไม่ได้รีบอยู่แล้วเพราะวันนี้เราเผื่อเวลาไว้ทั้งวัน
เนื่องจากเมื่อคืนนอนมาอย่างเต็มอิ่ม บวกกับความตื่นเต้นที่ได้มาเยือนประเทศนี้ครั้งแรกผมจึงนั่งมองวิวข้างทาง มองหานกบนฟ้าตลอด พอมาถึงจุดพักแรกผมก็กวาดสายตาไปเจอกลุ่มนกตัวใหญ่บินวนประมาณ 20 ตัว ซึ่งเป็นกลุ่มแร้ง! Himalayan Griffon และหนึ่งในนั้นเหมือนจะเป็น Egyptian Vulture ซึ่งเป็น uncommon จากที่ดูใน eBird stats บริเวณแถวนั้นอะนะ แล้วก็เป็นการพบเจอแร้งครั้งแรกในชีวิต แค่นี้พอใจแล้วกลับบ้านได้
ผ่านมาประมาณ 3 ชั่วโมง ก็มาถึงจุดพักรถให้เราแวะกินอาหารกลางวัน ก็ได้ปลดล็อค Himalayan Bulbul ซึ่งเป็นเป้าหมายนก common ในทริปนี้
ระหว่างทางหลังจากใช้เวลาเดินทางมาประมาณ 6 ชั่วโมงได้ ก็เกิดปัญหาการจราจรเกิดขึ้นคือเหมือนจะมีหินถล่มอยู่ข้างหน้า ต้องให้เจ้าหน้าที่เขามาเคลียร์หินออกก่อนรถเล็กรถใหญ่ถึงจะไปได้ ด้วยความที่พี่คนขับไหวพริบดีเลยกลับรถแล้วพยายามใช้ทางรองเพื่อหลีกหนีปัญหา แต่พอขับมาได้ไม่เกิน 500 เมตร ดันไปเจอคนซ่อมเสาไฟฟ้าอีก ที่หนักไปกว่านั้นคือถนนมันก็แสนจะแคบ แล้วเหมือนรถที่ติดถนนจากฝั่งนั้นก็คิดเหมือนกันมาติดกันอยู่อีกฝั่งของการซ่อมถนน วุ่นวายจริง ๆ ถนนก็แคบ ๆ ผมคิดในใจว่าจะถึงกี่โมงดี ระหว่างนั่งรอก็เป็นเวลาที่เหมาะกับการดูนก ก็เจอ Jungle Babbler กว่าจะหลุดมาได้ก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมงได้ “Welcome To Nepal!”
กว่าจะมาถึงก็เกือบ 2 ทุ่มละ ด้วยความหิวก็เลยเดินไปกินไก่ KFC และคนที่เดินทางบ่อยก็จะรู้ดีว่า KFC แต่ละที่นั่นรสชาติไม่เหมือนกัน วิ๊งแซ่บนั้นมีแค่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่เอาเป็นผมรู้ว่าอีก 6–7 วันข้างหน้าตัวเองต้องกินอะไร ผมก็พยายามหาอะไรที่มันไม่น่ามีขายบนนั้นกิน
Suggestion: ของที่ Pokhara ผมว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด ผมมาเช่าถุงนอนเพราะคิดว่าจะหนา สุดท้ายแล้วแต่ละ Tea house ที่เรานอนมีผ้าห่มที่หนาและขอได้มากขึ้นอีก หรือถ้าอยากใช้ถุงนอน หาซื้อดี ๆ ที่ไทยก็ได้มันใช้ได้เหมือนกัน
Day 2: Pokhara — Binthanti — Ghorepani
ขอแนะนำให้รู้จักกับ K.B. เป็น Trekking guide ที่ผม randomly ทักไปใน Facebook เพราะว่าเห็นเขาเคยนำเที่ยวหลายทริปแล้วดูมีประสบการณ์ แถมเป็นเรทราคาที่ถูกเพราะไม่ได้หักผ่านบริษัท มาพร้อมกับลูกหาบ 3 คน ลูกหาบ 1 คนรับได้ 20–23 kg เราใช้วิธีหารกัน ก็จะเป็นลูกหาบ 1 คนต่อสัมภาระ 2 คน โดยเราจะนั่งรถ Jeep จาก Pokhara ไปยัง Binthanti (อยู่หลัง Ulleri) ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากถนนใหญ่กลายเป็นถนนหิน มีเพียงวิวข้าง ๆ ที่เป็นเหว
Suggestion: เตรียมกระเป๋าแบบ Duffle bag จากไทยเลยก็ได้สะดวกที่สุด หรือจะเป็น Trekking Backpack เหมือนผมก็ได้ แต่ทั้งนี้ึควรจะกันน้ำได้ เพราะฝนตก/หิมะตกเกือบจะทุกวัน
หลังจากเติมพลังงานกลางวันก็ได้เวลา “เดิน” สักที ผมรู้ตัวว่าผมน่าจะฟิตน้อยสุดแล้วก็ช้าสุดเพราะจะต้องถ่ายนก เจอสรรพสิ่งต่าง ๆ ระหว่างทาง เลยขอเดินนำไปก่อนระหว่างทางก็เจอคนประปราย terrian ก็เป็นป่าดิบเขา พอเดินมาได้ไม่ถึง 5 นาที สัตว์ตัวแรกที่ผมเจอก็คือ “หมาไม้” OMG เกิดมาไม่เคยเห็น ผมหยิบกล้องมาดันลืมเปิดฝากล้องอีก กว่าจะเปิดฝามันก็วิ่งหนีไปแล้ว เสียดายมาก แต่ประทับใจมาก
หลังจากนั้นก็เดิน เดิน แล้วก็เดิน ทางเริ่มชันขึ้น อากาศเย็นสบายเหมือนเชียงใหม่ช่วงหน้าหนาว นกไม่ค่อยจะมีเลย สักพักฝนก็ลงเม็ด ก็ต้องหยิบเสื้อฝนมาคลุมทั้งตัวแล้วก้มหน้าก้มตาเดินไปอีก จนฟ้าเริ่มเปิด พอฟ้าเปิดนกก็เริ่มออกมาโชว์ตัว ผมหยุดบริเวณต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีเสียงนกหลายชนิดมา
ผมถ่ายเสร็จจนนกเริ่มจากไป เพื่อนกลุ่มหลังก็เดินตามมาเจอผมพอดี เราก็เดินไปด้วยอากาศมันดีด้วยหลังฝนตก ที่สำคัญระหว่างทางวิวดีมาก เดินผ่านอุโมงค์กุหลาบพันปี ผมยกให้เป็นหนึ่งในเทรลที่สวยที่สุดในทริปนี้ อาจจะในชีิวิตด้วยแหละ
เดินสักพักก็ถึงหมู่บ้าน Ghoredapani สักที หารู้ไม่ว่า Teahouse ของเราอยู่นั้นอยู่ Upper Ghoredapani ต้องเดินชันขึ้นไปอีกประมาณ 30 นาที
อาหารเย็นต่างคนก็ต่างลองอาหารเนปาล แต่ผมคิดว่าผมไม่อยากจะเสี่ยงสักเท่าไร ผมเลยสั่ง Springrolls อาหารเอเชียมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะทำได้อร่อย
Day 3: Ghorepani — Tadapani
วันนี้เป็นวันที่เหนื่อยที่สุดละในทริปนี้ เหนื่อยกว่าวันที่เดินจาก Deurali — ABC อีก อาจจะเพราะเป็นวันแรกที่ต้องเดินทั้งวันด้วย เมื่อวานเดินแค่ครึ่งบ่าย เราเริ่มตอนเช้าด้วยการตื่นตี 4 เดินขึ้นไปยัง Poonhill ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงสำหรับผม ต้องจ่ายเงินเข้าคนละประมาณ 150 NPR นี่คือวิวตอนที่แดดเริ่มส่อง เรียกได้ว่าทั้ง Poonhill เต็มไปด้วยกุหลาบพันปี โคตรจะสวย กล้องมือถือผมถ่ายมาได้ประมาณนี้ แต่ว่าของจริงมันสวยกว่ามาก ๆ ๆ
พอเริ่มพระอาทิตย์เริ่มขึ้นนกก็เริ่มร้องแล้ว ผมเลยเดินช้ากว่าเพื่อน ๆ คนอื่นเพราะมีนกมากมายให้ ID
ตอนเช้ามีคนเยอะมากที่ตื่นแล้วเดินขึ้นมา ฟีลเหมือนคนขับรถขึ้นไปดอยอินทนนท์ตอนเช้า มีทั้งท้องถิ่นและต่างชาติรวม ๆ ก็เกือบ 200 ชีวิตได้ ข้างบนเป็นหอคอย และก็เห็นวิวชัดมาก เราเดินขึ้นมาถึง Poonhill ที่ความสูง 3,210 m ที่ Poonhill เราจะเห็นเทือกเขาต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ Annapurna ที่เราจะไปพิชิต Base Camp
Suggestion: ใครจะมา ABC ก็เพิ่ม Poonhill ไปด้วยเลยครับ มันทำให้ทริปมันลงตัวมากๆ แถมเราจะไม่ได้เห็นวิวแบบนี้ที่ ABC ครับ
พอถ่ายรูปกันจนหนำใจ ก็ทยอยเดินลง
เมื่อเช้าเราตื่นตั้งแต่ตี 4 พอเดินลงมาเราก็เห็นวิวของหมู่บ้าน Ghorepani ซึ่งมันเป็นหมู่บ้านที่สวยมาก ดูสนามบาสกับ Background ภูเขาหิมะยิ่งใหญ่ มันโคตรจะ Surreal
พอลงมาก็ประมาณ 9 โมงเช้า เราก็รีบแพคกระเป๋า กินเข้าเช้าแล้วเดินทาง วันนี้เราต้องเดินค่อนข้างไกลเพื่อไปพักที่หมู่บ้าน Tadapani พอออกจากหมู่บ้านนี่เป็นทางที่เราต้องเดิน เป็นอุโมงค์ต้นไม้ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นกุหลาบพันปีแหละ
วันนี้อากาศตอนเช้าดีมาก นกเยอะมาก แต่ผมก็ต้องเดินเร็ว ๆ เพราะว่าถ้าผมหยุดเมื่อไรผมตามเพื่อนผมไม่ทันแน่ ๆ 5555
อันนี้วิวหลังจากเดินมาได้เกือบชั่วโมง เริ่มมาถึงยอดเขา แยกไม่ออกเลยระหว่างเมฆกับยอดภูเขา
Yellow-bellied Fairy-Fantail นกอีแพรดท้องเหลือง เจอครั้งล่าสุดที่ไทยก็บนดอยอินทนนท์
ระหว่างทางก็เจอเจ้าถิ่น ตัวจามารี ที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ปล่อยเซอร์กินพืชผักระหว่างทาง มาเก็บค่าทางด่วน
อาหารกลางวัน Tukpa เส้นราเมง น้ำซุปรสชาติเหมือนแกงกะหรี่ 8/10
หลังจากกินข้าวเสร็จ ผมก็ขอเพื่อน ๆ เดินนำมาก่อน โชคดีมากเจอตัวนี้ยืนอยู่กลางทาง แล้วไม่กลัวผมเลย
จริง ๆ ต้องบอกว่าเส้นทางจาก Ghoredapani มาที่ Tadapani เป็นหนึ่งในเส้นที่น่าดูนกที่สุดในทริป เพราะคนน้อยเทียบกับเส้นที่เดินขึ้น ABC แล้วพอคนน้อยผมก็เข้าใจว่านกจะเยอะไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า แต่นกมันร้องทั้งทางเลย เดินไปไม่มีฟีลป่าเงียบ ๆ
พอเดินมาสักพักก็เดินลงมาเจอลำธารที่ไหลลงไปเรื่อย ๆ ด้านขวาเป็นหน้าผาที่มีน้ำหยดลงมา มีซอกหินต่าง ๆ ตรงบริเวณนี้ก็เจอสัตว์ป่าที่น่าสนใจเยอะมาก และถ้ามีเวลามากกว่านี้ ผมก็อยากใช้เวลาในการส่องสัตว์แถว ๆ นี้มากขึ้น
ตลอดทั้งทริปเราจะเจอเต่าทองเยอะมาก เยอะที่สุดในชีวิต เข้าใจว่าเป็นเพราะความสูง อุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของมัน
ตัวนี้ผมโคตรจะตื่นเต้น ตอนส่องมันอยู่บนซอกหินเล็ก ๆ ประมาณ 4 พิกเซล แต่เห็นมันขยับก็เลยรีบถ่าบรูป มันเป็นญาติกับกระต่ายแต่หูจะเล็กกว่า
ด้วยความที่เป็นลำธาร แน่นอนเราต้องเจอนกกางเขนสักชนิดนึง
แล้วก็เจอนกกางเขนน้ำ บินหนีตามลำธารลงไปเรื่อย ๆ เราก็เดินตาม มันก็บินลงไปอีก สลับกันไปจนมันเหนื่อยมั้งมันเลยหยุดให้มนุษย์ถ่ายรูป
อีกตัวนึงที่ผมไม่คิดว่าจะได้เจอก็คือนกจู๋เต้นตัวนี้ มันอยู่ที่ซอกหินโคตรใกล้ ผมได้มาแค่ shot เดียว มันรู้ตัวมันก็เข้าไปในรูไม่โผล่มาอีกเลย
ต้องบอกว่าตลอดทางเรียบลำธารนี้เพลินมากสำหรับผม เดินมาเรื่อย ๆ ก็มีนก มีอะไรให้ดูตลอดทั้งทาง พอเดินลงมาสุดทางก็มี Teahouse ให้พักระหว่างทาง ก่อนที่จะต้องเดินขึ้น ๆ ไปที่หมู่บ้าน Tadapani ตอนนี้เวลาประมาณ 4 โมงเย็น พระอาทิตย์ก็เริ่มตกไปอยู่หลังภูเขาหิมะ ฟ้าก็เริ่มหม่น ฝนก็เริ่มจะตก
30 นาทีสุดท้ายเป็น 30 นาทีที่ทรมานมาก เพราะทางชันมาก หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ทัน เดิน 1 ก้าวต้องหายใจ 4 รอบ ไม่ไหว ที่หนักกว่าคือฝนก็ตก กว่าจะเดินถึงเพื่อน ๆ ก็พักจนหายเหนื่อยแล้ว พอผมเห็นป้าย welcome to Tadapani เท่านั้นแหละ ผมหายเหนื่อยเลย
suggestion: หลังจากเดินเหนื่อยทุกวัน สิ่งหนึ่งที่พวกเราทำคือการอาบน้ำร้อน ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าแต่ว่ามันทำให้ความเมื้อยล่าที่สะสมมันหายไป แล้วก็ทำให้หลับสบายมากขึ้น เอาง่าย ๆ คือมันสบาย
Day 4: Tadapani — Chomrong
ผมชอบที่พักที่ผมอยู่วันนี้ ผมพักอยู่ชั้น 2 แล้วก็ตื่นเช้าตี 5 เพื่ออกมาดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้่า ข้างหน้าจะเป็นต้นไม้สูงที่มีนกมาเกาะตอนเช้า
เห็นท้องฟ้าสีส้ม ๆ เช้า ๆ แบบนี้ต้อง Silhouette สักหน่อย
เก็บของเตรียมออกเดินทาง
ชุดอาหารเช้า กับขนมปัง Gurung อธิบายเป็นแป้งโรตีหนา ๆ เหมือนซาลาเปาทอดแบบไม่หวาน กินกับน้ำผึ้งก็ใช้ได้อยู่
นกเด้าลมหลังเทา หนึ่งในนกที่เจอบ่อยที่สุดในทริป
ลุย ลุย
เดินมาไม่ถึง 5 นาที ก็ได้ตื่นเต้นกันอีกแล้ว เจอลิงตัวใหม่ปีนลงมาอย่างใกล้เลย ผมชี้ให้เพื่อนเห็น
K.B guide ของเราได้เล่าว่าเส้นทางตรงนี้ที่เรากำลังเดินลงเขาเป็นเส้นทางที่มี Bandit ชอบมาดักปล้นนักท่องเที่ยว เอาแล้วกู ไม่สนใจนกแล้วขอเดินต้อย ๆ ลงไปก่อน ขอเอาชีวิตปลอดภัยก่อน
พอเราเดินหลุดออกมาจากโซนป่าก็เป็นวันแรกที่ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน เจอบ้านคนเยอะมาก เห็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วเราก็ได้เจอสัตว์แปลก ๆ นกใหม่ ๆ ที่ไม่ได้เจอระหว่างทาง
หลังจากเดินลงมาจาก Tadapani (2,630 m.) ก็เดินลงมาสุดเกือบ (1,800 m.) ก่อนที่จะค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป Chomrong (2,210 m.)
เที่ยงพอดีก็ได้พักกินข้าวก่อน วันนี้เดินลงหนัก ๆ วันแรก เริ่มมีอาการปวดเข่าเล็กน้อย
Suggestion: ซื้อที่ช่วยพยุงเข่า ช่วย safe หัวเข่าได้เยอะมาก
ระหว่างรอเชฟทำอาหาร เราก็ไม่ปล่อยเวลาให้เสียประโยชน์ ก็ทำการยืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ เพื่อให้อาการปวดเมื้อยนั้นดีขึ้น ก็ได้ถ่ายภาพนกแถวนั้นมาเล็กน้อย
แล้วก็นกแมสที่เจอบ่อยที่สุดในทริปนี้ขอยกให้ Rufous Sibia แต่จังหวะถ่ายนี้น้อยมาก เพราะนกมันเปรียวจัด
วันนี้เรียกได้ว่าต้อง cheat day ครับ เราเลือกอาหารที่มี sodium มากที่สุด เพื่อตบรางวัลให้ตัวเองที่เดินมาอย่างยากลำบาก
วันนี้เริ่มมีอาการเหนื่อยล้า ปวดน่อง ปวดก้น มากขึ้น ผมทาน้ำมันมวยที่พกมาเพื่อบรรเทาอาการ
suggestion: สำหรับคนที่กินยาก มีมาม่าเกาหลีขายตลอดทั้งทาง แต่ก็อาจจะให้พลังงานสู้ข้าวผัดไม่ได้
Day 5: Chomrong — Sinuwa — Bamboo — Dovan
เช้านี้เราก็ต้องตื่นมาดูวิวของหมู่บ้าน Chomrong (2,210 m.) ซึ่งมันก็สวยไม่เหมือนกับที่ผ่าน ๆ มา ผมว่าแต่ละที่มันมีเสน่ห์ของมัน วิวสวยไม่เหมือนกัน แต่คือสวยไม่แพ้กัน
หมู่บ้าน Chomrong ถือเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในเส้นนี้ ของกิน อาหารต่าง ๆ ก็จะดี และราคาถูก พอเดินขึ้นไปเรื่อย ๆ เราจะพบว่า ราคาอาหารก็จะเริ่มแพงขึ้น ๆ
เส้นทางที่จะเดินวันนี้ก็ใช้เวลาพอสมควร เราต้องเดินไปตรงหมู่บน้านที่อยู่บนภูเขาลูกขวาไกล ๆ ตรงโน้น แต่ว่าต้องเดินลงไปข้ามสะพาน แล้วขึ้นมา ปวดเข่าอีกแล้ว ความเมื้อยก็ยังไม่หาย ไปลุย
หลังจากกินอาหารเช้าเสร็จ เราก็ค่อย ๆ เดินลงมาตามบันไดหินของหมู่บ้าน เพื่อมาถ่ายรูป signature สักหน่อย Chomrong Stupa
ระหว่างเดินลงมาก็มีนกมากมายเกาะตามเสาไฟ ต้นไม้ระหว่างทางลง
ระหว่างทางนอกจากนกที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังมีพืชที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน เป็น native ของที่หิมาลัยเลยนะ
เดินขึ้นมาก็ถึง Sinuwa (2,350 m.) ก็เที่ยงพอดี
เราเดินมาถึง Bamboo (2,310 m.) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่เขาจะมาพักกันที่นี่ แต่ด้วยเวลาอันน้อยนิดของเรา เลยต้องบีบวันแล้วไปนอนที่ Dovan ซึ่งตอนเดินไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมงได้ แล้วพอตกเย็นเวลาเดิม ฝนก็มาตามคาด
พอเดินมาถึงที่พัก Dovan (2,600m.) ก็เวลาโพล้เพล้ พอดีวันนี้ผมว่าร่างกายของเราเริ่มปรับตัวได้ รู้สึกไม่ค่อยล้า แต่เหนื่อย อยากซุกในถุงนอนทับด้วยผ้าห่มหนา ๆ อีกที อากาศเริ่มหนาวขึ้น ที่นอนเริ่มมีความเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น
แต่ก่อนนอนก็ได้ถ่ายรูปผีเสื้อกลางคืนที่เกาะตามผนังบ้านก่อน
Day 6: Dovan — Himalaya — Deurali
วันนี้เรามีเวลาค่อนข้างเยอะ ตื่นสายได้ แต่เราจะตื่นสายกว่านกได้อย่างไร ถือโอกาสนี้ตื่นมาดูนกรอบ ๆ วันนี้อากาศเริ่มหนาวแหะ เสื้อหนาวตัวเดิมเริ่มเอาไม่อยู่ อากาศก็น่าจะมีหลักเดียวได้เมื่อคืน
แต่จากที่สังเกตตัวเองคือร่างกายเริ่มปรับตัวในเรื่องของความเมื้อยล้า ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่คุยกับเพื่อนก็ดีขึ้นเหมือนกัน ไม่ปวดอีกแล้ว
หลังจากกินข้าวก็เตรียมตัวออกเดินทางได้ วันนี้เป็นวันพักฟื้น ระยะเวลาที่เดินนั้นน้อยที่สุดประมาณ 4 ชั่วโมง เราน่าจะถึงประมาณบ่ายโมง
ก่อนจะเข้าป่า ก็มีเจ้าลิงตัวเดิมที่เราเคยเจอโผล่มาให้เห็น
เดินมาประมาณครึ่งชั่วโมงก็มาถึงจุด checkpoint เป็นหน้าผาที่มีต้นหญ้าแห้ง ๆ ผมก็ไม่แน่ใจมันเรียกว่าอะไรอะนะ แล้วก็มีน้ำตกลงมา ตรงนี้จริง ๆ ผมคาดหวังว่าจะเจอพวกแพะภูเขาที่เขาชอบเจอกัน แต่เราก็ไม่เจอ
11 โมงเราเดินมาถึงหมู่บ้าน Himalaya (2,920 m.) ซึ่งก็เป็นจุดพักกินข้าว แต่เรายังไม่หิวเท่าไร ก็ฝืนกินไป เพราะอาจจะต้องใช้แรงเดินอยู่ในการไปถึง Deurali
เราเริ่มไต่ระดับขึ้นมาสูงขึ้น เห็นจากหิมะ/น้ำฝนที่มาเกาะที่คอของนก
พอหลุดออกมาจากป่า ตอนนี้เราเริ่มมาที่ระดับความสูง 3,230 m. ที่ต้นไม้ใหญ่ไม่มีอีกแล้ว มีแต่ต้นไม้ที่เป็นพุ่ม ๆ ซึ่งหลังจากนี้แทบจะไม่เห็นต้นไม้แล้วมีแต่หิมะล้วน ๆ ดูสภาพหิมะที่ถูกนักเดินป่าเหยียบย้ำ
แอคอาร์ตสมาร์ทด็อก
ห้องพักคืนนี้ บอกเลยว่าโคตรจะหนาว 1 ทุ่มก็เข้าถ้ำกันทุกคนแล้ว
suggestion: พยายามเตรียม power bank สัก 20,000 mA เพราะบางที่ที่ชาร์จมีไม่พอ อาจจะอดชาร์จ อย่างน้อย 2 วันชาร์จทีเห็นจะได้ พวก charge solar cell ผมว่าไม่จำเป็น แบกไปหนักเปล่า ๆ
Day 7: Deurali — MBC — ABC
คิดว่าวันนี้เป็นวันที่ทุกคนรอคอย คือการพิชิต ABC จากที่เดินเมื้อยล่ามา 6 วันติด ๆ วันนี้แหละ เราจะเดินจากความสูง 3,230 m. ขึ้นไปที่ 4,130 m. !!!
สภาพแวดล้อม น่าจะเป็นจุดสุดท้ายที่เห็นต้นไม้ สูงกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
ในขบวนของเราเนี่ย ผมจะอยู่ท้ายสุดเสมอ อยู่กับลูกหาบอีกคนนึง เขาบอกว่าเขาเป็น Guide Assistance เวลาผมเจอนกเขาก็จะยืนดูผมดูนกอะนะ แต่คราวนี้เขากวักมือเรียกผมไปดู ก็ตลกดีเหมือนกัน “Nepali Chara”
กลุ่มเราเดินช้ามาก ส่วนใหญ่เขาจะล่วงหน้าเราไปประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ที่ช้าเพราะว่าเราหยุดถ่ายรูปทุก 5 นาที หลังจากผ่านป่าสุดท้ายมา เราก็ต้องข้ามแม่น้ำ ระหว่างเดินไปไปตามแม่น้ำหันกลับมาดูทาง โอ้โห วิวนี้แม่ง Surreal สุด ๆ ยังกะ ในเกมส์ God of War เหลือจะเชื่อ!
ที่นั่งกินข้าวที่ MBC (3,997 m.) วิวแบบนี้รสชาติไม่ต้องพูดถึง กินไม่ได้เลย 555
พอเข้ามาใน Teahouse ก็เห็นสิ่งนี้ ผมนี่อึ้งไปเลย
ช่วงนี้แหละเป็นช่วงวัดใจ เราออกจาก MBC ประมาณบ่าย 2 ได้ อากาศมาตรงเวลา ฟ้าเริ่มปิด ขบวนเรา 10 ชีวิตกับ 2 ชั่วโมงสุดท้าย มองไปข้างหน้าก็มีแต่หิมะ มองไปข้างหลังก็ไม่เห็นใครตาม ต้องก้มหน้าเดินอย่างเดียว อากาศก็เริ่มเบาบางมาก มีเพื่อนในทริปคนนึงอาการไม่ค่อยดี ปวดหัว ทุกคนก็เริ่มกังวลและ แต่ทำอะไรไม่ได้ต้องค่อย ๆ เดินต่อเพราะเดินมาเกินครึ่งทางแล้ว
ฉันมาทำอะไรที่นี่
ป้าย ABC ถึงแล้วววว 4,130 m. !!!
Guide Assistance ผมเอง ช่วยชี้นก แล้วก็คอยผมดูนกตลอดไม่ปล่อยให้ผมเดียวดาย ปกติคนที่ทำงานที่นี่เขาจะมานอนที่ห้องรวมครับ ซึ่งบรรยากาศมันดีมาก มันเหมือนอยู่ในงานเลี้ยง อากาศอบอุ่น มองผ่านหน้าต่างหิมะก็เริ่มตกลงมาเป็นรางวัล
Day 8: ABC — Bamboo
ทุกคนพร้อมใจกันตื่นเพื่อมาถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น
พอเราถ่ายภาพอะไรเสร็จสรรพ ก็ได้เวลาอำลา ABC เราเลยใช้โอกาสนี้ถ่ายภาพหมู่กันเพื่อเป็นที่ระทึกหน่อย ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเคยลากตัวเองมาที่นี่ โคตรสุด ต้องขอบคุณทีมงานคุณภาพจาก K.B
suggestion: ถึงจุดนี้แล้ว อย่าเพิ่งดีใจมาก เพราะยังเหลือ 2 วันที่เราต้องใช้เข่าอย่างสมบุกสมบัน เพราะฉะนั้นก็ค่อย ๆ ไปไม่ต้องรีบ ยังไงก็ถึงที่พัก
อากาศคนละเรื่องกับเมื่อวานเย็น
เจอน้องหลายตัวมาก น้องไม่ตื่นคนเลย
พอมาถึงจุดที่ข้ามแม่น้ำ เราก็พบกับหนึ่งในนกในตำนานอย่างนกมุดน้ำ ซึ่งพบได้ยากในไทย แล้วก็เป็นหนึ่งในนกที่ผมอยากเจอ ตัวมันใหญ่กว่าที่คิดมาก แต่ไกลไปหน่อย
หลังจากเดินลงมาผ่าน Deurali หมู่บ้านที่เราพัก ก็มาเจอกับ Himalayan Pika อีกแล้ว น้องอยู่ห่างไปแค่ 2 ก้าว ผมอัดคลิปมาด้วย น้องสั่น ๆ เหมือนพยายามทำตัวเนียน นึกว่าผมไม่เห็น แต่ที่ไหนได้ผมจ้องอยู่
เพื่อน ๆ ผมเดินนำผมไปพอสมควร เพราะผมหยุดดูนกบ่อยมาก ผมได้ยินเสียงทีไรผมจะหยุดรอนกตลอด ผมก็จ้ำ ๆ ต่อไป
วันนี้เป็นหนึ่งในวันที่ผมว่าแอบโหดอยู่ แม้จะไม่ค่อยเหนื่อยมาก หายใจทัน แต่ปวดเข่ามาก ถ้าไม่มีไม้เท้าเดินป่าผมคงมาไม่ถึงตรงนี้ เราเดินทางฝ่าฝนที่หนักที่สุดในทริปนี้มาได้ เท้าผมเปื่อยเลยต้องรีบอาบน้ำอุ่น เช็ดให้แห้ง ก่อนเข้ามานั่งกินข้าวเย็น
Day 9: Bamboo — Jinhu Danda
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เดินเต็มวัน ผมรู้ตัวอยู่ว่าวันนี้หนักแน่นอน ผมจำวันที่เราเดินลงจาก Chomrong (2,170 m.) ได้ มันเป็นบันไดที่ทอดลงมาค่อนข้างชัน และเราจะต้องขึ้นกลับไปใหม่ แต่ด้วยความที่เป็นวันท้าย ๆ เราก็ไม่ทิ้งการดูนกอย่างแน่นอน
พอมาถึง Chomrong (2,210 m.) เราก็มาแวะที่พักเดิมเพื่อมากินอาหารเที่ยง ผมมาช้ากว่าเพื่อนไปประมาณ 45 นาที มาถึงก็บ่ายโมงแล้ว อากาศร้อนมากหลังจากปรับตัวกับอากาศหนาวด้านบนมา ตอนเดินขึ้นมานี่โคตรจะทรมาน ผมต้องเก็บกล้องแล้วตั้งใจเดิน
พอกินข้าวเสร็จเราก็ออกมาด้านนอกอาคารเพื่อมาเตรียมตัวออกเดินช่วงสุดท้าย เราก็เหลือบไปเห็นนกตัวใหญ่ ใช่แล้วมันคือฝูงแร้ง! คราวนี้ผมถ่ายรูปมันได้ใกล้มาก โคตรประทับใจ ตอนมันบินมาใกล้ ๆ
ยังไม่พอ อีกตัวตึงที่อยากให้มันกลับมาในธรรมชาติแบบนี้อีกในไทย ผมใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเฝ้าดูแร้งฝูงนี้ มันเป็น moment ที่ผมอยากสัมผัสตอนวางแผนการเดินทางนะ แล้วก็ได้เจอ โชคดีจริง
เดินขึ้นก็ต้องเดินลงอีกแล้ว เราต้องเดินลงบันได้สุดชัน แต่ด้วยเป็นช่วงสุดท้าย ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาก้าวลงไปอย่างรวดเร็ว
นก 2 ชนิด 3 สีในเฟรมเดียวกัน
ในที่สุดเราก็ถึง Jinhu Danda (1,780 m.) ที่พักสุดหรู หลังจากพาตัวเองไปลำบากหลายวัน คำถามคือทำทำไม 5555 คืนนี้มีฉลองก่อนที่พรุ่งนี้เราจะต้องเดินทางกลับแล้ว อย่างเศร้าเลย
Day 10: Jinhu Danda — Pokhara
เช้านี้ตื่นสายได้เหมือนเดิม แต่เรามาทั้งทีก็ต้องเอาให้คุ้ม ได้นกมา 2–3 ชนิดอยู่เช้านี้
มาเกาะตรงสายไฟหน้าที่พัก
ที่นี่มีบ่อน้ำพุร้อนด้วย ซึ่งไหน ๆ ก็มาถึงละ ลงไปแช่สักหน่อย เป็นบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ อยู่ในหุบเขาต้องเดินลงมา
ตอนขึ้นมาก็เจอ
ตอนสุดท้ายเราต้องข้ามบันได้ที่เขาว่าติด 1 ใน 3 ของบันไดแขวนที่ยาวที่สุดในโลก เห็นในรูปอาจจะดูเฉย ๆ แต่ของจริง ๆ มันสูงมาก คนที่ไม่เคยกลัวความสูงอย่างผมยังต้องใช้เวลาทำใจ ผมคิดในใจว่าแล้วถ้าคนที่กลัวความสูงมาก ๆ ข้ามจะไหวไหม
จบการเดินทางอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างทางก็เจอลิงอีกชนิดนึง น่าจะเป็น
กลับมาเราก็ต้องอำลา K.B, Assitance และเพื่อนร่วมทีม ถ้ามีโอกาสครั้งหน้าเจอกันแน่นอน เราฉลองกิน Mala Hotpot กัน แต่รสชาติไม่ได้เรื่อง เอาเป็นว่าเราถึงที่พักหลังจากกินข้าวก็สลบทันที
Day 11: Pokhara — Kathmandu
เช้านี้ก็นั่งรถกลับ Kathmandu กับเจ้าเดิม ระหว่างทางเห็นแร้งตัวเบ้อเร่อ เลยถ่ายผ่านกระจกรถ ภาพนี้มันโคตรจะเนปาลเลย
Day 12: Kathmandu — Bangkok
วันสุดท้ายเราก็ออกไฟลท์เช้า อากาศดีมาก และที่นั่งก็ดีมากด้วย พอเครื่อง take off มาได้ 45 นาที กัปตันก็บอกว่าเราสามารถเห็น Mount Everest (8,849 m.) ได้ทางด้านซ้ายมือ จบทริปได้อย่างสวัสดิภาพ ทุกคน happy ผมได้นกใหม่ก็ happy สรุปแล้ว happy ending 🎉
Health Preparation
Disclaimer: หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพและมีความกังวลในเส้นทางแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ดีกว่าครับ ผมแค่เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผม
คือต้องเล่าก่อนว่าผมมีน้ำหนักค่อนข้างมาก 95 kg. แต่ว่าเป็นคนออกกำลังกายประมาณ 3 วัน วันละ 45 นาทีต่อสัปดาห์ ได้แก่ ว่ายน้ำ / weight training / ปั่นจักรยาน / เดินชัน สิ่งที่สำคัญมากคือการเตรียมกล้ามเนื้อขา ส่วนเรื่องหัวใจผมมองว่าค่อย ๆ ไปก็ได้ แต่ถ้าขาหมดแรงนี่ลำบาก อย่างน้อยควรจะเตรียม trekking pole ซึ่งจะช่วยในเรื่องการกระจายแรงจากขาไปที่แขน และช่วยเรื่องการทรงตัว
โดยสรุป การเตรียมตัวออกกำลังกายล่วงหน้า 3 เดือน ค่อนข้างสำคัญมาก ๆ อย่างน้อยมันจะช่วยคลายกังวล และ ทำให้การเที่ยวนั้นสนุกมากขึ้นแน่ ๆ
Suggestion: Diamox ยาแพ้ความสูงกินก่อนขึ้น ABC ประมาณ 48 ชั่วโมง ทั้งทริปมี 1 คนที่มีอาการ แต่ค่อย ๆ เดินและพักก็กลับมาปกติ อีกทางหนึ่งที่ช่วยได้ในกรณีปวดหัวคือ Garlic Soup ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น
Insurance
ก่อนหน้านี้จะซื้อประกันจากที่ไทยนี่แหละ แต่ว่าเกือบทุกบริษัทไม่คุ้มครองที่ประเทศ Nepal เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุมันมีสูงมาก ดังนั้นจึงลองไปหาดูของ International เจอหลายอันที่ดูดีแต่มาจบที่ ประกันของ https://www.worldtrips.com ตกคนละ 530 บาท/คน เพราะมันคุ้มครองที่ความไม่เกิน 4,500 m. ซึ่ง ABC สูงประมาณ 4,100 m. จะมีเรื่อง helicopte revacuation ในกรณีที่สภาพร่างกายเราไม่ไหว แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรจะเชื่อมั่นประกันมาก แนะนำให้เตรียมร่างกายไปให้ดี ๆ จะดีกว่า
Budget
ทริปนี้ไปกัน 6 คน หารเฉลี่ยตกคนละ 40,000 บาท รวมทุกอย่าง (ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่านอน ค่าไกด์) ไม่รวมอุปกรณ์ Trekking ส่วนตรงนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ
- ตั๋วเครื่องบิน ไปกลับ 15,000 บาท/คน
- รถทัวร์ Kathmandu — Pokhara ไปกลับ 900 บาท/คน
- รถ Jeep ไปกลับ 20,000 NPR/รอบ
- ค่าไกด์ 2,500 NPR/day
- ค่าลูกหาบ 5,000 NPR/day (รับน้ำหนักได้ 20–25 kg ของผมฝากของไปคนละ 10 kg)
- ค่า ACAP Permit ประมาณ 3,500 NPR/คน
- ค่าอาหารระหว่าง Trekking 500-1,000 NPR/คน/มื้อ
- ค่าที่พักระหว่าง Trekking 250–500 NPR/คน/คืน
Suggestion: แลกเงินที่ Pokhara Night Market จะได้ rate ที่ดี และเงินสดค่อนข้างจำเป็น เพราะหลายที่ไม่ได้รับ Credit Card
เรื่อง & ภาพ: กฤต กรวยกิตานนท์